วิสัยทัศน์ พันธกิจ


แนวนโยบายของผู้ถือหุ้นภาครัฐ (Statement of Directions : SOD)

กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดได้กำหนดแนวนโยบายผู้ถือหุ้นภาครัฐ (Statement of Directions) ที่จะใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและชี้ประเด็นที่รัฐวิสาหกิจควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งแนวนโยบายของผู้ถือหุ้นภาครัฐมี 2 ระดับ ดังนี้
 

1.  แนวนโยบายสำหรับรัฐวิสาหกิจในภาพรวม

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs)  ถือเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาโดยมีบทบาทหลักในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงินในภาวะที่กลไกตลาดไม่ทำงาน ทำให้มีความต้องการใช้บริการทางการเงินบางส่วนในระบบไม่ได้รับการตอบสนองจากสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์  นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังของรัฐบาลและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น SFIs  จึงต้องดำเนินการตามพันธกิจในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งมีบทบาทในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนรายย่อย และช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ SFIs จะต้องดำเนินการตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงทางการเงิน  โดย SFIs อาจมีความจำเป็นที่จะต้องให้บริการทางการเงินบางส่วนในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำหรับการดำเนินงานตามพันธกิจของ SFIs แต่ควรมีการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจและเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงพันธกิจในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาและความมั่นคงทางการเงินของ SFIs ควบคู่กันไป


2.  แนวนโยบายสำหรับ ธ.ก.ส.

แนวนโยบายที่ 1 : การขยายบทบาทการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท
     1.1  สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของชุมชนเป็นเครือข่ายธุรกิจ การขยายบทบาทการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุน (Investment Loan) พัฒนาและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลตลาดและข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตร ร่วมกับส่วนงานภาครัฐ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าขั้นปฐมภูมิเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าสูง มีคุณภาพ และมาตรฐานสากล และสามารถเชื่อมโยงการค้าด้านการเกษตรและด้านวัตถุดิบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยให้มีการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน
     1.2  ดูแลให้สหกรณ์ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง และสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกิจร่วมกับองค์กรการเงินชุมชนและสถาบันการเงินชุมชน เช่น การให้สินเชื่อองค์กรการเงินชุมชนและสถาบันการเงินชุมชน (Wholesale Funding)  เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุนให้แก่องค์กรการเงินชุมชนและสถาบันการเงินชุมชน และการให้องค์กรและสถาบันดังกล่าวเป็นช่องทางการให้บริการแก่ธนาคาร (Banking Agent) นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสร้างวินัยทางการเงินและให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)  และการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินครัวเรือนของประชาชน และเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้าหลักของ ธ.ก.ส. ทั้งในส่วนที่เป็นหนี้ในระบบ และนอกระบบ
     1.3  ขยายบทบาทการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนรายย่อย (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 200,000 บาท) ในชนบททั้งที่เป็นเกษตรกรและไม่ใช่เกษตรกร โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มดังกล่าวให้เหมาะสม
     1.4  สนับสนุนการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นศูนย์รวมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชน ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชน ทั้งนี้ จะต้องสนับสนุนการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่รวมถึงการสร้างเครือข่ายการพัฒนาชุมชน การสร้างผู้นำชุมชนที่เข้มแข้ง การสนับสนุนด้านเงินทุน ปัจจัยพื้นฐานและระบบงานที่จำเป็น   ต่อการผลิต
แนวนโยบายที่ 2 : การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของเกษตรกร
     2.1  พัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการเงินแก่เกษตรกร โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเกษตรกร และทั่วถึงยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันรายย่อย (Micro Insurance) และการประกันภัยพืชผล (Crop Insurance) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
     2.2  เพิ่มบทบาทการให้สินเชื่อห่วงโซ่อุปทานการเกษตร (Supply Chain) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคการเกษตรให้ครบวงจร โดยรวมทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
     2.3  พัฒนารูปแบบการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Mobile Banking เป็นต้น  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารและลดต้นทุนในการดำเนินงานของธนาคาร และส่งเสริมการใช้บริการ ทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อลดการใช้เงินสดในการทำธุรกรรม       ทางการเงินและการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยมีค่าธรรมเนียมการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินควร
     2.4  ศึกษาแนวทางและความจำเป็นในการขยายบทบาทการให้บริการทางการเงินให้แก่เกษตรกร สหกรณ์และผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่มีการขยายการลงทุนในภาคการเกษตรไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อสนับสนุนให้รูปแบบการประกอบธุรกิจของภาคการเกษตรไทยให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับ      การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

วิสัยทัศน์ (Vision)

เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย ให้บริการทางการเงินครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

พันธกิจ(Mission)

 เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทเต็มรูปแบบ ธ.ก.ส. ได้กำหนดพันธกิจสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
     1)  บริการทางการเงินครบวงจร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
     2)  พัฒนาการบริหารและการจัดการทรัพยากร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ชุมชน  สถาบันการเงินชุมชน และสถาบันเกษตรกร อย่างเกื้อกูล แบ่งปัน และเป็นธรรม
     3)  บริหารจัดการเงินทุนให้เพียงพอและมีต้นทุนที่เหมาะสมต่อลูกค้าและการดำเนินงาน
     4)  ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการบริการ
     5)  มุ่งมั่นหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคง และยั่งยืน

ค่านิยม (Core Values)

ธ.ก.ส. ยึดหลัก SPARK  ในการบริหารงานเพื่อช่วยสะท้อนความรับผิดชอบขององค์การที่มีต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจให้บรรลุวิสัยทัศน์ ซึ่งประกอบด้วย
Sustainability (S) ความยั่งยืนทั้งองค์การ พนักงาน เกษตรกร ผู้ถือหุ้น สังคม และสิ่งแวดล้อม
Participation (P) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
Accountability (A) ความสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการและพนักงาน
Respect (R) ความเคารพและให้เกียรติต่อตนเองและผู้อื่น
Knowledge (K) การส่งเสริมและยกระดับการนำความรู้สู่นวัตกรรมให้เป็นธนาคารแห่งการเรียนรู้

ความสามารถพิเศษขององค์การ (Core Competency)

ธ.ก.ส. ได้เพิ่มเติมความสามารถพิเศษที่จำเป็นในอนาคต ได้แก่ ความเชี่ยวชาญตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร (Value Chain Financing) เพื่อให้ ธ.ก.ส. เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอย่างมืออาชีพ ดังนั้น ความสามารถพิเศษขององค์การประกอบด้วย
     1)  การให้สินเชื่อร่วมกลุ่ม โดยให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
     2)  ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามายาวนาน  มีการให้บริการอย่างเป็นกันเอง
     3)  การจัดการการเรียนรู้และพัฒนาให้กับลูกค้า  ทั้งด้านการผลิต  การจัดการการตลาด  สิ่งแวดล้อม  และการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
     4)  มีการบริหารจัดการแบบเครือข่าย (Networking) ที่ครอบคลุมในการพัฒนาชนบท
     5)  ความเชี่ยวชาญตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร (Value Chain Financing)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น